วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ประวัติคีตกวีไทย


พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)






     พระยาประสานดุริยศัพท์ เป็นบุตรคนโตของขุนกนกเลขา(ทองดี) กับนางนิ่ม เกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๓ ตรงกับวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก ที่บ้านเลขที่ ๘๑ ตรอกไข่ ถนนบำรุงเมือง ตำบลหลังวัดเทพธิดา กรุงเทพฯ   
     การศึกษาวิชาดนตรีไทย ได้เรียนปี่ชวากับครูชื่อ “หนูดำ” ส่วนวิชาดนตรีปี่พาทย์อื่นๆ รวมทั้งปี่ใน ปี่นอก นั้นได้ศึกษาอย่างจริงจังกับครูช้อย สุนทรวาทิน (บิดาของพระยาเสนาะดุริยางค์) จนบรรลุความแตกฉานเป็นเอตทัคคะทางดุริยางคศิลป์อย่างยอดเยี่ยมต่อมา
     หน้าที่การงานของท่านเริ่มด้วยการเข้ารับราชการครั้งแรกในกระทรวงนครบาล เป็นหมื่นทรงนรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาออก ครั้นต่อมาภายหลัง เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ มีพระประสงค์ให้นักดนตรีของวัดน้อยทองอยู่ซึ่งมีครูช้อย สุนทรวาทินเป็นครู มีนายแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) กับนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) เป็นศิษย์เอก เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกท่านจึงกลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง ล่วงมาจนถึงพ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระยศเป็นพระยุพราชได้ทูลขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นายแปลกเป็นที่ “ขุนประสานดุริยศัพท์” นับจากนั้นก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์มาเป็นลำดับ จนได้เป็น “พระยาประสานดุริยศัพท์” เจ้ากรมปี่พาทย์หลวง ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๘ เรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต
     งานคีตนิพนธ์ของท่านอาทิ เช่น เชิดจีน ๓ ชั้น พม่าห้าท่อน เขมรราชบุรี ลาวคำหอม ลาวดำเนินทราย เขมรทรงพระดำเนิน (เขมรกล่อมพระบรรทม) เขมรปากท่อ เขมรใหญ่ ดอกไม้ไทร ถอนสมอ แขกเชิญเจ้า เป็นต้น
     ในด้านชีวิตครอบครัวท่านสมรสกับนางสาวพยอม ชาวจังหวัดราชบุรี มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๑๑ คน ท่านล้มป่วยด้วยโรคชราและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๖๗ สิริอายุได้ ๖๕ ปี




 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงป็นพระราชโอรสองค์ที่ 62 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย ทรงพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าจิตรเจริญ ประสูติเมื่อวันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๖ เมื่อพระชันษาได้ ๕ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชบิดาก็สวรรคตจึงทรงพระเจริญพระชนมายุมาในพระราชอุปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระเชษฐา(ต่างพระมารดา)โดยทรงมีพระชันษาอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวราว ๑๐ ปี     สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ทรงมีพระปรีชาสามารถในงานศิลปะทุกแขนง เช่น งานช่าง อักษรศาสตร์ การประพันธ์ฉันทลักษณ์ สถาปัตยกรรม ปฏิมากรรม จิตรกรรม ดุริยศิลป์ นาฏศิลป์ ตลอดจนถึงการนิพนธ์บทละครทุกประเภท การจัดการแสดง การทำฉากละคร จนถึงการแต่งหน้าและท่ารำทุกกระบวนทรงรอบรู้หมดสิ้นเหลือที่จะพรรณนาได้
     ในด้านการดนตรีนั้นทรงสนพระทัยมาตั้งแต่ยังมีพระชนมายุไม่ถึง ๑๐ พรรษา ทรงเริ่มเรียนดนตรีจากครูถึก ดุริยางกูร(บุตรของพระประดิษฐไพเราะ ครูมีแขก)แล้วทรงเรียนกับท่านขุนเณร เจ้ากรมพิณพาทย์หลวงสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ต่อมาได้ทรงเรียนเพลงหน้าพาทย์ และเพลงเรื่องต่างๆจากพระประดิษฐไพเราะ(ตาด)ซึ่งเรียนอยู่นานที่สุดและใกล้ชิดกันมากที่สุด เมื่อทรงเข้าโรงเรียนทหารมหาดเล็กทรงหัดเป่าฟลุ้ทกับครูฝรั่ง(ไม่ปรากฏนาม)รวมทั้งเรียนโน้ตสากลด้วย ปรากฏว่าทรงอ่านและเขียนโน้ตสากลได้ดีมากตั้งแต่มีพระชนมายุ ๒๒ ชันษา
     เพลงที่พระองค์ท่านทรงพระนิพนธ์ไว้อาทิเช่น เพลงเขมรไทรโยคสามชั้น   เพลงช้าประสม   เพลงตับแม่ศรีทรงเครื่อง    เพลงปลาทองสามชั้น ตลอดจนทรงมีส่วนร่วมในการก่อกำเนิดเพลงสรรเสริญพระบารมี มาตั้งแต่ต้น และบทร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีปัจจุบัน ก็เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่าน
     สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯทรงเสกสมรสครั้งแรกด้วย ม.ร.ว.ปลื้ม ทรงมีพระธิดาพระองค์เดียวคือ ม.จ.หญิงปลื้มจิตร(เอื้อย) จิตรพงศ์ ต่อมาทรงเสกสมรสครั้งที่ ๒ ด้วยหม่อมมาลัย มีพระโอรส ๒ พระองค์ คือหม่อมเจ้าชายอ้าย(สิ้นพระชนม์ในวันประสูติ)และหม่อมเจ้าชายยี่ ทรงพระนามว่า ม.จ.เจริญใจ จิตรพงศ์ และทรงเสกสมรสครั้งที่ ๓ ด้วย ม.ร.ว.โตงอนรถ มีพระราชโอรสธิดา 6 พระองค์
     สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯสิ้นพระชนม์ด้วยโรคพระหทัยวาย เมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๐ เวลา ๑๓.๐๕ น.




พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)




 

     พระประดิษฐไพเราะ นามเดิม มี ดุริยางกูร เกิดตอนปลายรัชกาลที่ 1 แห่งพระราชวงศ์จักรี ท่านเป็นครูดนตรีมาตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 นั้น ครูมีแขกได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ หลวงประดิษฐไพเราะ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2396 ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็กว่าราชการกรมปี่พาทย์ ฝ่ายพระบวรราชวัง ในปีเดียวกันนั้นเองท่านได้แต่งเพลงเชิดจีน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่สมพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งจึงโปรดให้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากหลวงเป็นพระ
     พระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร) ได้รับสมญาว่าเป็นเจ้าแห่งเพลงทยอย เพราะผลงานเพลงลูกล้อลูกขัด เช่น ทยอยนอก ทยอยเขมร ล้วนเป็นผลงานของท่านทั้งสิ้น ผลงานของพระประดิษฐไพเราะ(ครูมีแขก) เท่าที่รวบรวมและปรากฏไว้ มีดังนี้ โหมโรงขวัญเมือง การะเวกเล็กสามชั้น กำสรวลสุรางค์สามชั้น แขกบรเทศสามชั้น และผลงานอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ท่านถึงแก่กรรม ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5



ขอขอบคุณ  http://guru.sanook.com/pedia/topic/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น