วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

ประเภทเป่า

เครื่องเป่า เป็นเครื่องดนตรีที่ทำให้เกิดเสียงจากลมเป่า อุปกรณ์ดังเดิมได้จากพืช ได้แก่หลอดไม้ต่าง ๆ และจากสัตว์ ได้แก่ เขาสัตว์ต่างๆ ต่อมาได้มีวิวัฒนาการด้วยการเจาะรูและทำลิ้น เพื่อให้เกิดระดับเสียงได้มาก เครื่องดนตรีเหล่านี้ ได้แก่ ขลุ่ยชนิดต่าง ๆ ปี่ ชนิดต่าง ๆ และแคน เป็นต้น


๑. ขลุ่ย

ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า มักทำจากไม้รวก ไม้ชิงชัน ไม้พะยูง และงาช้าง แต่ที่ทำจากไม้รวกจะให้เสียงนุ่มนวล ไพเราะกว่า ขลุ่ยมี ๕ ชนิด คือ ขลุ่ยกรวด ขลุ่ยนก ขลุ่ยเพียงออ ขลุ่ยหลีบ และขลุ่ยอู้ ขลุ่ยมีส่วนประกอบดังนี้

- เลาขลุ่ย คือ ตัวขลุ่ย มีขนาดแตกต่างกันไปตามชนิดของขลุ่ย มักนิยมประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆ ลงบนตัวขลุ่ย เช่น ลายดอกพิกุล ลายหิน และลายลูกระนาด เป็นต้น - ดาก คือ ไม้อุดปากขลุ่ย นิยมใช้ในไม้สักทอง เหลากลมให้คับแน่นกับร่องภายในของปากขลุ่ย ฝานให้เป็นช่องว่าง ลาดเอียงตลอดชิ้นดาก ให้เป่าลมผ่านไปได้
- รูเป่า เป็นรูสำหรับเป่าลมเข้าไป
- รูปากนกแก้ว เป็นรูที่เจาะร่องรับลม จากปลายดากภายในขลุ่ย อยู่ด้านเดียวกับรูเป่า อยู่สุดปลายดากพอดี เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปากนกแก้วนี้ทำให้เกิดเสียง เทียบได้กับลิ้นของขลุ่ย - รูเยื่อ เป็นรูสำหรับบิดวัสดุที่ทำให้เสียงสั่นพริ้ว มักใช้เยื่อไม้ไผ่ หรือเยื่อหัวหอมปิด อยู่ด้านขวามือ
- รูค้ำ หรือรูนิ้วค้ำ เป็นรูสำหรับให้นิ้วหัวแม่มือปิด เพื่อบังคับเสียง และประคองเลาขลุ่ยขณะเป่า อยู่ด้านล่างเลาขลุ่ย ต่อจากรูปากนกแก้วไปทางปลายเลาขลุ่ย
- รูบังคับเสียง เป็นรูที่เจาะเรียงอยู่ด้านบนของเลาขลุ่ย มีอยู่ ๗ รู ด้วยกัน
- รูร้อยเชือก มี ๔ รู หรือ ๒ รูก็ได้ อยู่ทางส่วนปลายของเลาขลุ่ย โดยการเจาะทะลุบน-ล่าง และ ซ้าย-ขวา ให้เยื้องกันในแต่ละคู่ เสียงขลุ่ยเกิดจากเป่าลม และใช้นิ้วมือปิดเปิดรูบังคับเสียง

๒. ขลุ่ยกรวด



ขลุ่ยกรวด มีขนาดเล็กกว่า ขลุ่ยเพียงออ ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า ระดับเสียงของขลุ่ยเพียงอออยู่ ๑ เสียง

๓. ขลุ่ยนก



ขลุ่ยนก เป็นขลุ่ยพิเศษ ทำขึ้นเพื่อ เสียงสัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะนก ใช้บรรเลง ประกอบในวงดนตรี เพื่อให้เกิดจินตนาการ ในการฟังเพลงได้ดียิ่งขึ้น บางครั้งยังใช้ ลิ้นปี่มาประกอบกับ ตัวขลุ่ยเพื่อเลียนเสียงไก่ ขลุ่ยพิเศษเหล่านี้นิยมใช้บรรเลง เพลงตับนก และตับภุมรินทร์

๔. ขลุ่ยหลีบ



ขลุ่ยหลีบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก มีเสียงสูงแหลมเล็ก ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า เสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออขึ้นมา ๓ เสียง ใช้เป่าคู่กับขลุ่ยเพียงออ หรือขลุ่ยกรวด มีอยู่สองชนิด คือ ขลุ่ยหลีบเพียงออ และขลุ่ยหลีบกรวด

๕. ขลุ่ยอู้



ขลุ่ยอู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ ระดับเสียงต่ำสุด ต่ำกว่าระดับเสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออ ลงไปอีก ๒ เสียง ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์

๖. ปี่

ปี่ เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า ปกติ เลาปี่ ทำด้วยไม้แก่น ต่อมามีผู้คิดทำด้วยงา โดยกลึงให้เป็นรูปบานหัว และบานท้าย ช่วงกลางป่อง ภายในกลวง ทางหัวใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางท้ายปากรูใหญ่ ใช้งา ชัน หรือวัสดุอย่างอื่นมาหล่อเสริมตอนหัว และตอนท้าย เรียกว่า "ทวน" ทางหัวเรียกว่า "ทวนบน" ทางท้ายเรียกว่า "ทวนล่าง" ช่วงที่ป่องกลาง เจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียง เรียงลงมาตามข้างเลาปี่ จำนวน ๖ รู ที่รูเป่าตอนทวนบนใส่สิ้นสำหรับเป่าเรียกว่า ลิ้นปี่ ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น ตัดกลมผูกติดกับท่อกลมเล็ก ๆ ที่เรียกว่า "กำพวด" ทำด้วยโลหะ มีลักษณะเรียว วิธีผูกเชือกให้ลิ้นใบตาลติดกับกำพวดเรียกว่า "ผูกตะกรุดเบ็ด"

๗. ปี่ไฉน



ปี่ไฉน เป็นปี่สองท่อน ถอดออกจากกันได้ ท่อนบนเรียงยาว ปลายผายออกเล็กน้อยเรียกว่า "เลาปี่" ท่อนล่างปลายบานเรียกว่า "ลำโพง" ทำด้วยไม้หรืองา ปี่ชนิดนี้เข้าใจว่าได้แบบอย่างมาจาก เครื่องดนตรีของอินเดีย ซึ่งเป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยไม้ ไทยใช้ปี่ชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ปัจจุบันใช้ในขบวนแห่ คู่กับปี่ชวา จ่าปีใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตรา

ขอบคุณจาก      http://www.bs.ac.th/musicthai/page4.html4.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น